International Field Epidemiology Training Program-Thailand

หลักสูตร

ชื่อหลักสูตร
(ภาษาไทย) ระบาดวิทยาและการบริหารจัดการทีม สำหรับแพทย์หัวหน้าทีมและผู้สอบสวนหลัก
(ภาษาอังกฤษ)Field Epidemiology and Management Training : FEMT


                                                                                               

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยาให้เพียงพอ กับการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคหรือ สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยผู้ผ่านการอบรมมีสมรรถนะต่อไปนี้

แพทย์หัวหน้าทีม :

1. เพื่อเสริมความรู้ ทักษะด้านระบาดวิทยาสำหรับแพทย์หัวหน้าทีมเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรค
2. เพื่อให้แพทย์หัวหน้าทีม สามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และเป็นผู้นำการบริหารจัดการทีมในกรณี สอบสวนโรค เฝ้าระวังโรค หรือตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สอบสวนหลัก :

1. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะด้านการปฏิบัติงานสอบสวนโรค เป็นแกนหลักของทีม ในการวิเคราะห์ ข้อมูลและประเมินระบบเฝ้าระวังโรค
2. เพื่อให้ผู้สอบสวนหลักมีทักษะในการบริหารจัดการทีม เพื่อการสอบสวนโรค เฝ้าระวังโรค หรือตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสมบัติผู้ที่ควรเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตร

หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าอบรมหลักสูตร FEMT โดยเรียงลำดับการคัดเลือกดังนี้                                                
1. ผู้สมัครเป็นผู้บริหารระดับจังหวัด (นพ.สสจ./ผชช.ว.)
2. ผู้สมัครอยู่ในจังหวัดที่มีจำนวนผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรระบาดวิทยา (FETP/FEMT/FETH) น้อย กว่าหรือเท่ากับร้อยละ 50 ของจำนวนอำเภอในจังหวัดนั้น ๆ
3 ผู้สมัครปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป
      3.1 หากผู้สมัครเป็นแพทย์หัวหน้าทีม ต้องมีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
      3.2 กรณีที่หนึ่งจังหวัดมีหลายทีม จะพิจารณาจากตำแหน่งทางวิชาการ เรียงตามลำดับ จาก นายแพทย์เชี่ยวชาญ>นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ>นายแพทย์ชำนาญการ>นายแพทย์ ปฏิบัติการ
      3.3 อำเภอชายแดน
      3.4 อำเภอที่ไม่มีผู้ผ่านการอบรม FETP FETH FEMT 4 เป็นผู้ที่สามารถเข้ารับการอบรมได้เต็มเวลา (ครบขั้นตอนที่ 1 -5 ของหลักสูตร) และได้รับความเห็นชอบ จากผู้บังคับบัญชา

วิธีการอบรม

เน้นรูปแบบ On-the-job Training ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. อบรมระบาดวิทยาระดับพื้นฐานเน้นการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 1 สัปดาห์
2. ผู้เข้าอบรมกลับไปปฏิบัติงาน และทำการบ้านชิ้นที่ 1 คือ ประเมินระบบเฝ้าระวัง 1 เรื่อง
3. นำเสนอการบ้านชิ้นที่ 1 และอบรมการสอบสวนทางระบาดวิทยา 1 สัปดาห์
4. ผู้เข้าอบรมกลับไปปฏิบัติงาน และจัดทำการบ้านชิ้นที่ 2 คือ การสอบสวนโรคในพื้นที่ 1 เหตุการณ์ พร้อมเขียนรายงานฉบับสมบูรณ์
5. นำเสนอการบ้านชิ้นที่ 2และอบรมเพิ่มเติมด้านบริหารจัดการทีม พร้อมรับประกาศนียบัตร

ผู้เข้ารับการอบรมแต่ละทีม มีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน (อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นแพทย์ศิษย์เก่า FETP) เพื่อให้คำปรึกษาในการทำการบ้านชิ้นที่ 1 และ 2 การลงพื้นที่ปฏิบัติงานของผู้เข้ารับการอบรมใช้งบประมาณ จากต้นสังกัด ส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาเบิกจากกองระบาดวิทยา งบประมาณการเก็บสิ่งส่งตรวจเบิกตามเงื่อนไข ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่

การมอบใบประกาศนียบัตร จะมอบให้ในวันสุดท้ายของการอบรม โดยผู้ผ่านการอบรมต้องเข้าอบรม ครบเวลา ส่งงานได้ตามกำหนด และงานได้คุณภาพจากการพิจารณาของวิทยากรผู้วิพากษ์

เนื้อหาการอบรม

ครั้งที่ 1 : หลักระบาดวิทยา การวัดทางระบาดวิทยา สถิติเชิงพรรณนา การนำเสนอข้อมูลทางระบาดวิทยา การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา การประเมินระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา การจัดทำโครงร่างงานประเมิน ระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา
วิธีการอบรม: บรรยายแบบฝึกหัดบนโต๊ะ พบอาจารย์ที่ปรึกษาศิษย์เก่านำเสนอผลการประเมินระบบเฝ้าระวัง ให้เห็นเป็นตัวอย่าง วัดผลความรู้ก่อน-หลังอบรม

ครั้งที่ 2 : หลักการสอบสวนโรค การเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สถิติเชิงอนุมาน ความคลาดเคลื่อนใน การศึกษาทางระบาดวิทยาโปรแกรม Epi-info และนำเสนอการบ้านชิ้นที่ 1 (การประเมินระบบเฝ้าระวัง)
วิธีการอบรม: บรรยาย แบบฝึกหัดบนโต๊ะการสอบสวนระบาดวิทยาเชิงพรรณนาและเชิงวิเคราะห์ ฝึกปฏิบัติ เก็บตัวอย่าง เจาะเนื้อสมอง Nasopharyngeal swab, Throat swab, Rectal swab, เก็บตัวอย่างน้ำ อาหาร และภาชนะ ครั้งที่ 3 : ความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่ออันตราย การบังคับใช้ กฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 การสอบสวนโรคติดต่ออันตราย การสวมถอดชุดป้องกันตนเอง การทำลายเชื้อ การเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลเพื่อรองรับโรคติดเชื้อติดต่ออันตราย การบริหารจัดการทีมและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีมีการระบาดของโรค/ภัยสุขภาพ การสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และการนำเสนอการบ้านชิ้นที่ 2 (การสอบสวนทางระบาดวิทยา)

การประเมินผลการอบรม

1. ประเมินจากผลการทดสอบความรู้ก่อนและหลังการอบรม ในการอบรมระยะที่ 1 และ 2
2. ประเมินผลจากการนำเสนองานที่ได้รับมอบหมาย ในการอบรมระยะที่ 2 และ 3