International Field Epidemiology Training Program-Thailand

Who we are

FETP หรือ Field Epidemiology Training Program เป็นโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523 ปัจจุบันมีแพทย์/สัตวแพทย์นักระบาดวิทยาที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนามแล้ว 39 รุ่น มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างนักระบาดวิทยาภาคสนามที่มีความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้หลักระบาดวิทยา เพื่อทำงานแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่ประจำอยู่ภายในกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในปี พ.ศ. 2528 แพทยสภาอนุมัติให้กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันหลักในการฝึกอบรม "หลักสูตรแพทย์เฉพาะทาง สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงระบาดวิทยา" ต่อมา ในปี พ.ศ. 2541 ได้ขยายเป็นโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนามนานาชาติ (International FETP-Thailand) โดยเพิ่มส่วนของการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรสาธารณสุขจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และประเทศจีน เป็นต้น และเพื่อเพิ่มศักยภาพการตอบโต้การระบาดของ โรคอุบัติใหม่และโรคจากสัตว์สู่คน โครงการฝึกอบรมฯ จึงได้เริ่มรับสัตวแพทย์เข้าอบรมในหลักสูตร 2 ปี เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ เพื่อให้การพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยาภาคสนามเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถ เพิ่มกำลังการผลิตตามแผนพัฒนากำลังคน ปี พ.ศ. 2561 - 2570 จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiology Training Center; FETC) ขึ้น ณ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) 3 แห่ง ได้แก่ สคร. 1 (จ.เชียงใหม่) สคร. 9 (จ.นครราชสีมา) และ สคร. 12 (จ.สงขลา) เมื่อปี พ.ศ. 2561 เพื่อร่วมสนับสนุนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านระบาดวิทยาภาคสนามให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

ผู้ผ่านการอบรมในอดีตได้ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อพัฒนางานสาธารณสุขในระดับต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เช่น การดำเนินการควบคุมโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง สอบสวนและควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ทั้งในกลุ่มโรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ การบาดเจ็บ โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อในโรงพยาบาล โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ เช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome; SARS) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome; MERS) โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus infection) และโรคติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance; AMR) รวมไปถึงการผลักดันให้มีการบรรจุวัคซีนใหม่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของประเทศไทย การรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ผ่านการอบรมยังได้ รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานทั้งในระดับชาติและนานาชาติ หรือได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุขและองค์กรระหว่างประเทศอีกด้วย

พ.ศ. 2563 มีแพทย์และสัตวแพทย์ที่ผ่านการอบรมโครงการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม ทั้งหมด 227 คน เกษียณ 22 คน ลาออกจากราชการ 21 คน ดังนั้นประเทศไทยคงเหลือนักระบาดวิทยาภาคสนามทั้งประเทศ 184 คนแบ่งตามรายจังหวัด





Domestic Program
International Program